• เด็กทุกคนมีโอกาสเกิด “ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก” หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “โรคซีด” กันได้ทั้งนั้น ในเด็กไทยทุก 100 คน จะตรวจพบโรคโลหิตจางสูงถึง 30 คน
  • อาการที่พบเห็นได้ทั่วไป คือ อ่อนเพลียง่าย เหนื่อยง่าย เวียนศีรษะ พัฒนาการล่าช้า จิตใจและพฤติกรรมเซื่องซึม ไม่อยากอาหาร ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย มีปัญหาด้านการเจริญเติบโต มีปัญหาด้านการเรียน ขาดความสนใจและสมาธิในการเรียน สติปัญญาด้อยลง ไอคิวต่ำกว่าเกณฑ์ ผลการเรียนแย่ลง 
  • เด็กๆควรได้รับการเจาะเลือดเพื่อดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด 2 ครั้งในเพศชาย และหญิง ครั้งที่ 1 (ช่วงอายุ 6 - 9 เดือน) ครั้งที่ 2 (ช่วงอายุ 3 – 6 ปี) และครั้งที่ 3 เฉพาะเพศหญิง (ช่วงอายุ 11 – 18 ปี)

 

 

 

“หมอคะ ลูกดิฉันไม่ตั้งใจเรียนเลยค่ะ”

“หมอครับ ลูกผมทำไมเซื่อง ซึม เซ็ง ไม่มีสมาธิ ขี้หงุดหงิด ทำอะไรก็บ่นเหนื่อย เบื่อง่าย”

“หมอครับ หลานผมอ้วนจ้ำม่ำดูสมบูรณ์ดีขนาดนี้ แต่ทำไม..ซีดลง ทุกวั้นทุกวัน”

 

            “หมอๆ ช่วยดูที ทำไมลูกถึงเป็นแบบนี้” ...อ่อนเพลียง่าย เหนื่อยง่าย บ่นปวดศีรษะบ่อยๆ เวียนศีรษะ พัฒนาการล่าช้า จิตใจและพฤติกรรมเซื่องซึม ไม่อยากอาหาร ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย มีปัญหาด้านการเจริญเติบโต มีปัญหาด้านการเรียน ขาดความสนใจและสมาธิในการเรียน สติปัญญาด้อยลง ไอคิวต่ำกว่าเกณฑ์ ผลการเรียนแย่ลง  ฯลฯ

คำถามเหล่านี้มีให้ได้ยินในห้องหมอเด็กไม่เว้นแต่ละวัน เป็นความทุกข์ของคนเป็นพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่ไม่ได้พบเจอเฉพาะในห้องตรวจโรคห่างไกลที่ไหน เพราะแม้แต่ในโรงพยาบาลที่อยู่ใจกลางเมืองและความเจริญ จะลูกชาวนาหรือว่าลูกนายห้าง เหล่าคุณหมอทั้งหลายก็ยังต้องรับมือกับอาการของเด็กที่มีลักษณะดังกล่าวมากน้อยต่างกันไป

คุณพ่อคุณแม่รู้หรือไหมว่า ลูกของเราๆท่านๆ อาจจะมีโอกาสแจ็คพอต เป็นหนึ่งในเด็กที่เกิด “ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก” หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “โรคซีด” กันได้ทั้งนั้น

ก่อนจะที่เอามือทาบอกแล้วร้องอุทานว่า “ไม่จริ๊ง ไม่จริง ลูกดิฉันกินเก่งยังกับอะไรดี พี่ป้าน้าอาสารพัดจะสรรหามาให้กินขนาดนี้”

คุณพ่อคุณแม่อาจจะยังไม่ทราบว่า โรคซีดเป็นปัญหาสาธารณสุขของบ้านเรามาตลอ กรมอนามัยเคยทำงานวิจัยไว้เมื่อไม่นานมานี้ โดยการสุ่มตรวจเลือดเด็กนักเรียนชั้น ป.1 ทั่วประเทศจำนวนกว่า 5,000 คน พบว่าเด็กไทยทุก 100 คน จะมีผู้ที่โลหิตจางสูงถึง 30 คน !!

ในรายที่เป็นน้อยๆก็อาจจะแค่เบื่ออาหาร ซึม เหนื่อยง่าย แค่ดูดนมยังตัวเย็น ใจสั่น ทำท่าเหมือนจะเหนื่อย แต่ในรายที่เป็นมากๆ อาจพบเห็นได้จากอาการผิวหนังซีด ซีดไปหมดทั้งหน้าเนื้อตัว เยื่อบุตา เล็บมือ ฝ่ามือ เหงือก ใบหู ให้กินอะไรคลื่นไส้อาเจียน อ้าปากทีไรคุณพ่อคุณแม่อาจตกใจที่เห็นลูก “ลิ้นเลี่ยน” คือลิ้นมีผิวเรียบ ไม่ขรุขระเหมือนปกติ ลิ้นสีซีดลง ริมฝีปาก และมุมปากอักเสบ เล็บบางหรือเล็บงอนคล้ายช้อน ชีพจรเต้นเร็ว ปลายมือปลายเท้าเย็น รายที่อาการมาก อาจถึงขั้นหัวใจล้มเหลวกันได้เลยทีเดียว

นี่เรากำลังพูดถึงเด็กเล็กๆ ที่ไม่ได้ไปตากแดดตากลมทำงานหนักที่ไหนเลย แต่อาการเหล่านี้ก็เกิดขึ้นได้ นั่นเป็นเพราะว่าร่างกายไม่สามารถเอาออกซิเจนไปเลี้ยงในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้มากพอ แล้วทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ต้องมาดูกันก่อนว่า ปกติร่างกายของคนเราตอนที่อยู่ในท้องกลมๆ ของคุณแม่นั้น ทารกในครรภ์มารดาจะมีฮีโมโกลบินเป็นโปรตีนสำคัญที่อยู่ในเม็ดเลือดแดง มีธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบ และมีหน้าที่ช่วยนำออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย 

โดยทารกแรกเกิดจะมีฮีโมโกลบินสูง และถูกเก็บสะสมอยู่ที่ตับและม้าม ปัญหามาเกิดกันตอนหลังคลอดนี่แหละ เพราะทันทีที่คลอดออกมาอุแว้ๆ เมื่อไร ทารกจะหยุดสร้างเลือดเป็นเวลา 6-8 สัปดาห์ แล้วจึงเริ่มสร้างใหม่โดยจะใช้เสบียงธาตุเหล็กที่เก็บสะสมไว้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ แน่นอนว่าเสบียงย่อมหมดไปหรือเหลือน้อยหลังจากถูกนำมาใช้ทุกวัน

ในขณะที่ผู้ใหญ่อย่างเราๆ ท่านๆ มีธาตุเหล็กประมาณ 5 กรัม แต่น้องหนูตัวเล็กๆ นั้น จะมีธาตุเหล็กในร่างกายแค่ประมาณ 0.5 กรัมเท่านั้น เด็กเล็กเบบี๋ทั้งหลายจึงต้องหาเสบียงธาตุเหล็กมาตุนไว้ในตัวเองตลอดเวลา เช่น ถ้าเป็นเด็กเล็กก็ได้จากนมแม่ แต่ถ้าเด็กโตขึ้นมาอีกหน่อย ก็จะได้จากอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น นม ผักใบเขียว ไข่แดง เลือดหมูเลือดไก่ ตับ เครื่องใน เนื้อสัตว์ ถั่วเมล็ดแห้ง ฯลฯ

ถ้าเป็นเด็กเล็กที่ได้ธาตุเหล็กจากนมแม่ ซึ่งจะถูกดูดซึมได้ดีกว่าธาตุเหล็กในนมวัว 2-3 เท่า แต่ถ้าเป็นพวกอาหารอื่นๆ ธาตุเหล็กจากอาหารจะถูกดูดซึมได้แค่ประมาณ 10% ของธาตุเหล็กที่มีอยู่ในอาหารนั้นๆ พูดง่ายๆ ว่ากินเข้าไปสิบส่วน ได้ธาตุเหล็กจริงๆ แค่ 1 ใน 10 ส่วนนั้นเท่านั้น

แล้วเด็กทุกคนก็คงเหมือนกันทั่วโลก คือ ซุกซน เล่นมาก กำลังกินกำลังนอน ต้องใช้พลังงานในการเติบโตมาก ยิ่งถ้าเป็นช่วงขวบปีแรกนะคุณพ่อคุณแม่เอ๋ย โอกาสที่ลูกจะกินเท่าไร ก็ยังได้ธาตุเหล็กไม่เพียงพอกับการเจริญเติบโตจนทำให้เกิดภาวะขาดธาตุเหล็ก ง่ายยิ่งกว่าปอกกล้วยป้อนลูกกันเลยทีเดียว

อันนี้ยังไม่ได้นับสาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดโรคซีดหรือโลหิตจางได้อีก เช่น การคลอดก่อนกำหนด หรือในบางพื้นที่ของประเทศไทย พบว่าพยาธิปากขอก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีเลือดออกในลำไส้เรื้อรัง และขาดธาตุเหล็ก เกิดภาวะโลหิตจางได้ หรือเด็กบางคนเกิดมาเป็นทาลัสซีเมีย คือมีภาวะทางพันธุกรรมบางอย่างที่ทำให้เซลล์ที่กระตุ้นเม็ดเลือดแดงไม่สามารถเม็ดเลือดแดงได้หรือสร้างได้น้อยลง ฯลฯ

แต่ไม่ว่าจะเพราะสาเหตุใด สิ่งสำคัญกว่านั้นคือ การป้องกันที่ง่ายกว่าการรักษาตามหลังเป็นร้อยเป็นพันเท่า ก็คือการพาลูกไปตรวจให้มั่นใจ โดยค่าปกติของฮีโมโกลบินตามเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลก (The World Health Organization: WHO) ได้กำหนดไว้ สำหรับเด็กอายุ 6 เดือน - 6 ปี จะพบประมาณ   11 กรัมต่อเดซิลิตร และเด็กอายุ 6-14 ปี จะพบประมาณ 12 กรัมต่อเดซิลิตร ถ้าตรวจแล้วพบว่าลูกของท่านมีปริมาณเม็ดเลือดแดงในร่างกายต่ำกว่าปกติ  ก็จะถือได้ว่ามีภาวะซีดหรือโลหิตจาง

ปัจจุบัน ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ได้แนะนำให้มีการตรวจ 2 ครั้งในเพศชาย และหญิง ครั้งที่ 1 (ช่วงอายุ 6 - 9 เดือน) ครั้งที่ 2 (ช่วงอายุ 3 – 6 ปี) และครั้งที่ 3 เฉพาะเพศหญิง (ช่วงอายุ 11 – 18 ปี) โดยการเจาะเลือดเพื่อดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count: CBC)

พาลูกไปเจาะเลือดจึ้กเดียว เป่าเพี้ยงๆ ก็หาย ดีกว่ามาแลกกับความป่วยไข้ที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่หัวใจจะวายแทนเวลาเห็นลูกป่วย ลูกร้องงอแงแต่คนที่น้ำตาไหลคือพ่อแม่เสมอ แล้วทุกวันนี้หมอและโรงพยาบาลมีอุปกรณ์ทันสมัย สามารถตรวจคัดกรองภาวะซีดหรือโลหิตจางโดยใช้เวลาไป เจาะ ตรวจ ฟังผล ก็สามารถรู้คำตอบได้ทันที รวดเร็วชนิดนั่งก้นยังไม่ทันอุ่น

เป็นเรื่องน่ายินดีที่ตามมาก็คือ ปัจจุบันนี้ ภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็ก สามารถตอบสนองต่อการรักษาได้ดี โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ จะดีขึ้นภายในเวลาไม่กี่วัน โดยคุณหมออาจจะให้ยาธาตุเหล็กอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง จนภาวะโลหิตจางกลับคืนเป็นปกติ

ซึ่งส่วนใหญ่จะพบว่าเด็กกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ภายใน 1 เดือน แต่จะต้องให้ธาตุเหล็กต่อจนครบเวลาทั้งหมดประมาณ 3 เดือน เพื่อเสริมธาตุเหล็กให้กับอวัยวะสำคัญที่เป็นแหล่งสะสมธาตุเหล็ก เช่น ไขกระดูก ตับ และ ม้าม หรือถ้าคุณพ่อคุณแม่ที่กลุ้มใจกับอาการของลูกในเรื่องพัฒนาการ การตรวจพบและรักษาแต่เนิ่นๆ จะทำให้ ระบบประสาท ความจำจะดีขึ้นในระยะเวลาไม่นานหลังได้รับการรักษา

อ่านจบแล้วอย่าชะล่าใจ ชวนคุณลูกอาบน้ำแต่งตัวแล้วรีบไปติดต่อสอบถามได้ ในทุกๆ สถานบริการระดับโรงพยาบาลชุมชนของกระทรวง หรือตามสาธารณสุขทั่วประเทศ ที่ให้บริการตรวจ คัดกรองโรคซีดในเด็ก หรือติดตามข้อมูลได้จาก เว็บไซต์ของสถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยี ทางการแพทย์ http://www.dms.moph.go.th/imrta/ และเว็บไซต์ของกรมการแพทย์ http://www.dms.moph.go.th

ที่สำคัญ อย่าลืมกอดลูกให้แน่นๆ แล้วท่องไว้ในใจพร้อมกันค่ะ

เราไม่กลัวลูกเจ็บ เพราะการตรวจเลือดตามช่วงวัย ป้องกันได้ทั้ง ซีด เพลีย โง่”