รู้หรือไม่ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน เสี่ยงเป็นความดันโลหิตสูงถึงสองเท่าของคนทั่วไป…

 ถ้าไม่ได้รับการรักษาต่อเนื่อง ความดันโลหิตสูงจะก่อให้เกิดโรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน (STROKE!) โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง เสี่ยงเกิดโรคหัวใจกว่าคนทั่วไปถึง 4 เท่า

เมื่อไหร่ถึงเรียกว่าเป็นโรคเบาหวาน(ชนิดที่ 2) และ โรคความดันโลหิตสูง?

ตามแนวทางการรักษา วินิจฉัยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 หากตรวจพบค่าผิดปกติสองครั้งภายในสองสัปดาห์ดังต่อไปนี้

ระดับน้ำตาลผิดปกติ

ระดับน้ำตาลขณะอดอาหารสูงกว่าคนปกติ

100 – 125 มก./ดล.

เบาหวานชนิดที่ 2

ระดับน้ำตาลขณะอดอาหารสูงเข้าเกณฑ์โรค

ตั้งแต่ 126 มก./ดล. ขึ้นไป

 

ความดันโลหิตสูง หากตรวจพบค่าผิดปกติอย่างน้อยสองครั้ง ดังต่อไปนี้

ความดันโลหิตสูง

คืออะไร?

เมื่อไหร่เรียก”ความดันสูง”?

วัดที่โรงพยาบาล

วัดเองที่บ้าน

ความดันตัวบน

ความดันภายในหลอดเลือดแดง เมื่อหัวใจบีบตัว

140 มม.ปรอท

135 มม.ปรอท

ความดันตัวล่าง

ความดันภายในหลอดเลือดแดง เมื่อหัวใจคลายตัว

90 มม.ปรอท

85 มม.ปรอท

 

ยังไม่หมด มีเรื่องที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้! แต่ตอนนี้เรารู้กันแล้วล่ะ

ความดันโลหิตสูง ยังส่งผลร้ายต่อการคิดวิเคราะห์เมื่ออายุมากขึ้น! นักวิจัยจากจอนส์ ฮอปคินส์ ค้นพบว่าผู้ป่วยความดันโลหิตสูง แม้บางรายจะไม่เกิดโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันหรือ Stroke ให้เห็นเด่นชัด แต่กลับแอบเกิด Stroke เงียบ ๆ ค่อย ๆ ลดการทำงาน ความคิดความอ่านลงไปตามอายุที่มากขึ้น จนอาจเร่งภาวะความจำเสื่อม (Dementia) ให้เกิดขึ้นในท้ายที่สุด

ส่วนโรคเบาหวานนั้น จะค่อย ๆ เกิดผลข้างเคียง รวมถึงผลข้างเคียงที่ ตา ไต และเท้า! (จำง่าย ๆ ว่าตาไตตีนนั่นเอง!) คือเบาหวานขึ้นตา (Diabetic retinopathy) ทำให้จอตาเสื่อมร้ายที่สุดทำให้ตาบอดได้ โรคไตจากเบาหวาน (Diabetic nephropathy) ทำให้ไตเสื่อมลง และเบาหวานลงเท้า (Diabetic foot) เกิดจากหลอดเลือดเสื่อมจากเบาหวาน ทำให้เนื้อเยื่อและปลายประสาทเสื่อม เกิดแผลได้ง่าย แผลหายช้า อาจถึงขั้นต้องตัดนิ้ว ตัดเท้า หรือขา ในที่สุด

ไม่มีอาการเลยนะ หายแล้วหรือเปล่า?  

ผู้ป่วยเบาหวานความดันเมื่อพบหมอ หรืออยู่บ้านถูกลูกหลานกระตุ้นเตือนให้ไปตามนัดหมอ ก็จะอ้างว่าไม่มีอาการอะไร คงหายแล้ว ไม่ต้องกินยาหรอก เสียเวลาหาหมอ แท้ที่จริงแล้วความดันโลหิตสูงและเบาหวานนั้นไม่หายขาด แต่จะแย่ลงได้ง่าย ๆ หากขาดยาและขาดนัดแม้เพียงไม่นาน

ในคนทั่วไปที่ยังไม่เป็นเบาหวานความดัน...การป้องกัน สำคัญที่สุด

  1. ลดการกินเค็ม
  2. ผ่อนคลาย
  3. ออกกำลังกาย คุมน้ำหนัก
  4. เลิกเหล้า เลิกบุหรี่
  5. คัดกรองสม่ำเสมอ เริ่มที่อายุ 35 ปี

ใครบ้างที่เสี่ยงเบาหวานกว่าคนทั่วไป?

  1. ผู้มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ หรือเป็นโรคอ้วน
  2. ผู้มีประวัติครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน
  3. เคยมีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือเคยมีภาวะซิสต์ในรังไข่ (Polycystic ovarian syndrome)
  4. ผู้มีพฤติกรรมการกินเสี่ยง ติดหวาน เช่น น้ำหวาน
  5. อายุที่มากขึ้น