การป้องกัน คือกุญแจสำคัญของโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน!

เนื่องจากเมื่อเกิดเหตุแล้ว มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือเสียชีวิต เราจึงควรป้องกันโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยวิธีการป้องกันก็ไม่ยาก คือการลดความเสี่ยงที่กล่าวมาแล้วนั่นเอง

  1. ควบคุมโรคประจำตัว เช่น ควบคุมความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในเลือด หรือระดับไขมันให้เป็นปกติ โดยการรับประทานยาและพบแพทย์ตามนัดอยู่เสมอ สำหรับผู้ป่วยความดันโลหิตสูง เบาหวาน และไขมันในเลือดสูง
  2. นอกจากนี้ การเลือกรับประทานอาหารคลีน หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง ควบคุมน้ำหนักให้พอดีและคงที่ ออกกำลังกายและขยับร่างกายอยู่เสมอ ย่อมช่วยได้ทั้งในผู้ป่วยโรคเรื้อรังและในประชากรทั่วไป
  3. การเลิกบุหรี่ ลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งจะช่วยลดโรคอื่น ๆ นอกจากหลอดเลือดสมองเฉียบพลันได้อีกด้วย
  4. ลดความเสี่ยงการได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ เช่น สวมหมวกกันน็อกขณะขับรถจักรยานยนต์
  5. และท้ายที่สุด เมื่อถึงอายุที่ควรตรวจคัดกรองโรค ก็ควรได้รับการตรวจที่เหมาะสม

อย่างสม่ำเสมอ เมื่อได้รับวินิจฉัยเร็ว รู้เร็ว เราก็จะควบคุมสุขภาพ ป้องกันโรคได้เร็วนั่นเอง

สำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน การฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยนั้นสำคัญอย่างยิ่ง!

เมื่อเกิดเหตุร้ายกับคนใกล้ตัวของท่าน สิ่งควรรู้หลังจากเข้ารับการรักษาแล้ว คือการฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วย เนื่องจากแนวโน้มอาการที่ดีขึ้นของผู้ป่วย นอกจากจะขึ้นอยู่กับการรักษาที่ทันท่วงทีและถูกต้องแล้ว การฟื้นฟูสุขภาพก็สำคัญไม่แพ้กัน การบำบัดฟื้นฟูจะเป็นไปตามอาการของผู้ป่วย เช่น หากมีอาการพูดไม่ชัด จะต้องได้รับอรรถบำบัด คือบำบัดด้วยการฝึกพูด ฝึกสื่อสาร หากมีแขนขาอ่อนแรง หรืออ่อนแรงในกล้ามเนื้อมัดเล็ก เช่น นิ้วมือ จะต้องทำกายภาพบำบัดสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ซึ่งส่วนนี้ผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยมีความสำคัญในการช่วยเหลือ ให้กำลังใจ เพื่อผ่านพ้นอาการทั้งหลายไปได้อย่างเต็มที่ที่สุด และท้ายที่สุดเมื่ออาการดีขึ้นแล้ว อย่าลืมป้องกันเหตุร้ายครั้งต่อไปที่อาจเกิดขึ้น ด้วยวิธีการป้องกันที่กล่าวข้างต้นนะครับ