การตรวจสุขภาพ คือ การตรวจเช็คสุขภาพในขณะที่ผู้รับการตรวจยังรู้สึกสบายดี ไม่มีอาการหรือความผิดปกติท่เกี่ยวข้องกับการตรวจนั้นแต่อย่างใด

     ทำไมต้องมีการตรวจสุขภาพ ?

     เพราะคนเราอาจมีโรค/ภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่ซ่อนอยู่ในตัว ซึ่งพบได้ในทุกกลุ่มวัยตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยผู้สูงอายุ ความผิดปกติที่ซ่อนอยู่นี้จะไม่แสดงอาการในระยะแรกหรือระยะที่มีความรุนแรงน้อย ทำให้คนเหล่านี้ไม่ได้ไปรับการตรวจสุขภาพ และปล่อยไว้นานเข้า (ซึ่งอาจกินเวลาเป็นแรมปีหรือนับสิบๆ ปี) โรค/ภาวะเสี่ยงที่ซ่อนอยู่นั้นก็จะกลายเป็นโรคที่กำเริบหนักและเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงตามมาในที่สุด

     ดังนั้นการตรวจสุขภาพจึงทำเพื่อ

  1. ค้นหาโรคที่ซ่อนอยู่ในตัวโดยที่ยังไม่มีอาการผิดปกติให้เห็น ซึ่งถือว่าเป็น "ภัยเงียบ" เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง มะเร็งเต้านมในระยะแรก มะเร็งปากมดลูกในระยะแรก เป็นต้น ซึ่งตามหลักการรักษาแล้ว การตรวจพบโรคตั้งแต่ระยะแรกหรือระยะที่มีความรุนแรงน้อย จะรักษาโรคได้ทัน ไม่ลุกลาม ลดภาวะแทรกซ้อน บางโรคอาจรักษาให้หายขาดได้
  2. หาปัจจัยหรือพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค ซึ่งเจ้าตัวอาจไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหา เช่น กรรมพันธุ์ การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ การบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม การขาดการออกกำลังกาย การมีอารมณ์เครียด ภาวะน้ำหนักเกินหรือลงพุง สภาพแวดล้อมหรือการทำงานที่เสี่ยงต่อการเจ็บป่วย หรือความผิดปกติที่ซ่อนอยู่ในตัว (เช่น ความดันลูกตาสูง ซึ่งทำให้เกิดโรคต้อหิน ไวรัสตับอักเสบบีในเลือดซึ่งทำให้เกิดโรคตับอักเสบเรื้อรังและมะเร็งตับ) เมื่อพบว่ามีปัจจัยหรือพฤติกรรมเสี่ยงอะไร หมอที่ตรวจก็จะให้การดูแลและให้คำแนะนำการปฎิบัติตัวป้องกันไม่ให้เกิดโรคตามมา ที่สำคัญผู้ที่มีภาวะเสี่ยงควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วย

     การตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสม เป็นอย่างไร ?

     เป็นการตรวจสุขภาพตามหลักวิชาการโดยแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข เน้นการซักถามประวัติสุขภาพและการตรวจร่างกายเป็นหลัก ส่วนการตรวจทางห้องปฎิบัติการหรือการตรวจแล็บ จะทำเฉพาะในรายที่มีข้อมูลหลักฐานบ่งชี้แล้วว่ามีความจำเป็นเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อค้นหาโรคและปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค และนำไปสู่การป้องกัน การส่งเสริมสุขภาพ และการบำบัดรักษาอย่างถูกต้อง

     การตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมไม่จำเป็นต้องมีการตรวจทางห้องปฎิบัติการเสมอไป

    ใครบ้างที่ควรรับการตรวจสุขภาพ ?

     ทุกคนตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยชราควรได้รับการตรวจสุขภาพ ซึ่งคณะกรรมการพัฒนาการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสม กระทรวงสาธารณสุขได้แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มวัยเด็กและวัยรุ่น (อายุ 0-18 ปี) กลุ่มวัยทำงาน (อายุ 18-60 ปี) กลุ่มวัยผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) และกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ แต่ละกลุ่มมีแนวทางการตรวจสุขภาพที่แตกต่างกัน