1. โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง: เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง (หวาน ดัน มัน)

     จากรายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 4  พ.ศ. 2551-2 พบว่าโรคและปัจจัยเสี่ยงของโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดอาจมีเพียงปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัย ซึ่งโรคที่ส่งผลกระทบและคนส่วนใหญ่เป็นกันมาก ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง

  • เบาหวาน เป็นโรคเรื้อรังที่พบบ่อย ทำให้มีคุณภาพชีวิตลดลงเนื่องจากอาการแทรกซ้อนของอวัยวะต่างๆ เช่น โรคปลายประสาทตาเสื่อม จอประสาทตาเสื่อม โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคไต แผลที่เท้า เป็นต้น จากการวิเคราะหืพบว่า หนึ่งในสามของผู้ที่เป็นเบาหวานไม่เคยเป็นเบาหวานมาก่อน ส่วนผู้ที่เคยได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์ว่าเป็นเบาหวานแต่ไม่ได้รับการรักษา มีร้อยละ 3.3 ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด ส่วนที่เหลือประมาณ 2 ใน 3 ของผู้ที่เป็นเบาหวานได้รับการรักษาอยู่และร้อยละ 28.5 ของผู้ที่เป็นเบาหวานทั้งหมดมีระดับน้ำตาลอยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้ต่ำกว่า 126 มก./ดล.

  • ความดันโลหิตสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงของภาระโรคอันดับที่ 5 ของชายไทย และอันดับที่ 2 ของหญิงไทย โดยทำให้เสียชีวิตประมาณปีละ 7 หมื่นราย (ร้อยละ 18) การวิเคราะห์พบว่า จำนวนผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูง ร้อยละ 60 ในชาย และ 40 ในหญิง ไม่เคยได้รับการวินิจฉัยมาก่อน ร้อยละ 8-9 ได้รับการวินิจฉัย แต่ไม่ได้รับการรักษา ประมาณน้อยกว่า 1 ใน 4 ของผู้ป่วยทั้งหมดได้รับการรักษา แต่ควบคุมความดันโลหิตไม่ได้ตามเกณฑ์ และอีกประมาณ 1 ใน 4 ได้รับการรักษาและควบคุมความดันโลหิตได้

  • ระดับไขมันในเลือดสูงหรือผิดปกติ เป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับไขมันในเลือดต่างไปจากเกณฑ์ที่เหมาะสม เป็นผลให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (atherosclerosis) และทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular diseases) ตามมา การวิเคราะห์กลุ่มที่มีภาวะไขมันคอเลสเตอรอลรวมสูง (TC>=240 มก./ดล.) พบกว่า ร้อยละ 73 ไม่เคยได้รับการวินิจฉัย ร้อยละ 14.8 ได้รับการรักษาและสามารถควบคุมได้ สัดส่วนของคนที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยมากที่สุดในกลุ่มอายุ 15-29 ปี และลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น และระดับ HDL-C ที่ต่ำกว่าปกติคือ < 40 มก./ดล. ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง มีร้อยละ 28.6   และมีความชุกต่ำสุดในกลุ่ม 15-29 ปี

     ดังนั้น การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิต และไขมันในเลือดมีความสำคัญ เนื่องจากโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูงหรือผิดปกติ (หวาน ดัน มัน) ส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ ผู้ที่เป็นโรคกลุ่มนี้จะรู้สึกแข็งแรงสบายดี แต่หากปล่อยปละละเลยด้วยความไม่รู้นาน 5-10 ปีขึ้นไป ก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ อัมพฤกษ์ อัมพาด ไตเสื่อม ตามัวตาบอด เป็นต้น จึงจำเป็นต้องมีการตรวจคัดกรองโรคกลุ่มนี้ด้วยการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิต และไขมันในเลือดของคนปกติทั่วไป เพื่อค้นหาโรคที่ซ่อนเร้นอยู่ในตัว และได้รับการดูแลรักษา รวมทั้งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น พฤติกรรมการกิน (หวาน เค็ม มัน) การออกกำลังกาย และความเครียด เป็นต้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนดังกล่าว ซึ่งในคนปกติทั่วไปหรือไม่ได้เป็นโรคควรตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด ไขมันในเลือด และความดันโลหิต ดังนี้

  • อายุ 18 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจวัดความดันโลหิต อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  • อายุ 20 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจระดับไขมันในเลือด ทุก 5 ปี
  • อายุ 35 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ทุก 3 ปี และเมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจทุกปี

2. โรคมะเร็ง 3 ชนิดที่ควรตรวจก่อนมีอาการ: มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม และมะเร็งลำไส้ใหญ่
     โรคมะเร็งสามารถเกิดได้ทุกเพศทุกวัย แต่ในกลุ่มวัยทำงานมีแนวโน้มสูงที่จะเป็นโรคมะเร็งประมาณร้อยละ 60.12 (ทะเบียนมะเร็งระดับโรงพยาบาล พ.ศ. 2557) จึงต้องมีการตรวจสุขภาพเบื้องต้น เพื่อคัดกรองความเสี่ยงและป้องกันโรคมะเร็ง ปัจจุบันทางการแพทย์ในประเทศไทยมีความเห็นว่ามีโรคมะเร็ง 3  ชนิด ที่มีความจำเป็นในการตรวจคัดกรองค้นหาโรคตั้งแต่ในระยะแรกๆ สำหรับคนทั่วไปไม่มีอาการ ดังนี้

  1. มะเร็งปากมดลูก เป็นโรคมะเร็งที่พบในผู้หญิงร้อยละ 12.15 ซึ่งเป็นอันดับสองรองจากมะเร็งเต้านม ส่วนใหญ่ผู้หญิงไม่กล้าไปตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก สาเหตุเกิดจากความอาย และความกลัว ซึ่งความจริงแล้วหากตรวจพบแต่เนิ่นๆ หรือในระยะแรกสามารถรักษาได้ทันที แต่ทางที่ดีที่สุดคือ การเข้ารับการตรวจคัดกรองเพื่อป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก ดังนั้นสตรีอายุ 30 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจคัดกรองเพื่อค้นหามะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีการเก็บเซลล์โดยวิธีพื้นฐาน (conventional pap smear) ทุก 3 ปี หรือวิธีป้ายหาความผิดปกติโดยใช้กรดอะซิติก (VIA) ทุก 5 ปี จนถึงอายุ 55 ปีขึ้นไป แล้วตรวจด้วยวิธีการเก็บเซลล์โดยวิธีพื้นฐาน  (conventional pap smear)   แทน
  2. มะเร็งเต้านม เป็นโรคมะเร็งที่พบเป็นอันดับหนึ่งในผู้หญิง ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 42.41 ในการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ทุกคนสามารถตรวจคลำด้วยตัวเอง ซึ่งต้องตรวจให้ถูกท่า ถูกต้อง และสม่ำเสมอ แต่ปัญหาคือ ถ้าตรวจด้วยตัวเอง บางคนตรวจถูกท่า แต่ไม่รู้ว่าตรวจแล้วเจอมากน้อยเพียงใด ดังนั้น สตรีอายุ 30-39 ปี ควรได้รับการตรวจเต้านมทุก 3 ปี โดยแพทย์หรือบุคลากรสาธารณสุขที่ได้รับการฝึกอบรม และอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจเต้านมทุกปี ส่วนการตรวจด้วยการถ่ายภาพรังสีเต้านม หรือแมมโมแรม (mammogram) ควรเป็นดุลพินิจของแพทย์พิจารณาตามความเหมาะสมเป็นรายบุคคล
  3. มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง สามารถพบได้ในทุกอายุ ซึ่งพบมะเร็งลำไสน้ใหญ่และลำไส้ตรง ในผู้ชายเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็นร้อยละ 17.21 และในผู้หญิงเป็นอันดับสาม คิดเป็นร้อยละ 17.21   รองจากมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูก แต่อัตราเสี่ยงของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่จะสูงขึ้นในผู้สูงอายุ ดังนั้น อายุ 50 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจอุจจาระ (Fecal occult blood test) ปีละ 1 ครั้ง เพื่อคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง ส่วนการตรวจด้วยวิธีการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (colonoscopy) นั้น ควรเป็นดุลพินิจของแพทย์พิจารณาตามความเหมาะสมเป็นรายบุคคล

3. พฤติกรรมเสี่ยง: การสูบบุหรี่และการดื่มสุรา
     คนวัยทำงานยังมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพด้วยการสูบบุหรี่และการดื่มสุรา แม้จะรู้ถึงโทษและพิษภัยว่าส่งผลเสียต่อสุขภาพ แต่ก็ยังเลือกที่จะดื่มสูบบุหรี่และสุรา ซึ่งการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และการดื่มสุรา จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าวัยทำงานสูบบุหรี่และดื่มสุรามากกว่าวัยอื่นอย่างชัดเจน ในปี 2554 วัยทำงานสูบบุหรี่ร้อยละ 19.2 และดื่มสุราร้อยละ 34.2
     ทั้งนี้ พฤติกรรมเสี่ยงในการสูบบุหรี่และการดื่มสุราอาจทำให้เกิดโรคในอนาคตตามมา การสูบบุหรี่ยังก่อให้เกิดโรคอี่กมากมาย เช่น โรคมะเร็งปอด โรคถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจและหลอดเลือด ส่วนการดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลเสียต่อร่างกาย ทำให้เป็นโรคตับแข็ง มะเร็งตับ หรือโรคหัวใจ ดังนั้น ในการตรวจสุขภาพจะมีการคัดกรองการติดบุหรี่และสุรา โดยการใช้แบบประเมินสภาวะสุขภาพ ได้แก่

  1. แบบประเมินปัญหาจากการดื่มแอลกอฮอล์ Alcohol Use Disorders Identification (AUDIT)
  2. แบบทดสอบวัดระดับการติดนิโคติน (Fagerstrom Test for Nicotine Dependence)